top of page

เคล็ดลับ ดำเนินรายการอย่างมั่นใจแบบพิธีกรอาชีพ

Writer: Isaree SrivicharnkulIsaree Srivicharnkul

Updated: Sep 26, 2024

พิธีกร

การเป็นพิธีกร ( MC หรือ Master of Ceremonies ) เป็นงานที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์ ทั้งศิลป์ สติและไหวพริบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดงาน event ขององค์กร งานแต่งงาน งานประชุมสัมมนา งานแถลงข่าว งานประกาศรางวัล หรือการแสดงสดหากหลายรูปแบบ พิธีกรมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างประสบการณ์ที่ราบรื่น ไร้รอยต่อ เพื่อให้งานลุล่วงด้วยดี สร้างความประทับใจต่อผู้ร่วมงานได้ ทั้งหมดนี้คือ 11 เคล็ดลับสำคัญที่จะช่วยให้คุณเตรียมพร้อม และเป็นพิธีกรได้อย่างมั่นใจ งานลุล่วงสำเร็จได้ในทุกสถานการณ์ 1. ศึกษาเป้าหมายของงานและผู้ร่วมงาน การเข้าใจธรรมชาติของงานว่าเป็นงานรูปแบบไหน ใครเป็นคนจัด เป้าหมายคืออะไร กำหนดการและคิวงานในช่วงต่างๆมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง คนสำคัญในงานคือใคร ผู้ร่วมงานคือคนกลุ่มไหน ความคาดหวังจากงานของคนแต่ละกลุ่มคืออะไร ข้อมูลทั้งหมดนี้สำคัญมากเพื่อที่พิธีกรจะได้เข้าใจภาพรวม และสามารถปรับแนวทางการสื่อสารให้คนในงานรู้สึกมีส่วนร่วม บรรลุเป้าหมายให้ได้มากที่สุด 2. พัฒนาทักษะการสื่อสารให้แข็งแกร่ง การสื่อสารที่ชัดเจน เฉียบคม กระชับและเข้าใจง่ายเป็นกุญแจสำคัญ พยายามฝึกฝนการออกเสียงให้ชัดเจนทุกคำอย่างเป็นธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้ "เอ่อ" และ "อืม" ที่สะท้อนถึงความไม่มั่นใจ ฝึกพูดอย่างมีจังหวะจะโคน เว้นวรรคให้ถูกจุด ควบคุมความเร็วในการพูดให้สม่ำเสมอ เร่งความเร็ว และปรับให้ช้าลงได้เมื่อจำเป็น นอกจากทักษะการพูด พิธีกรที่ดีต้องรู้จักฟังอย่างตั้งใจ เพื่อทำความเข้าใจ เก็บข้อมูลเพื่อเรียนรู้ต่อยอด และสามารถปรับตัวได้ตลอดตามที่ต้องการ 3. เตรียมตัวแบบลงรายละเอียด การเตรียมตัวที่ดีคือการศึกษาข้อมูล รู้กำหนดการ ประเด็นสำคัญต่างๆ ชื่อผลิตภัณฑ์ วิทยากร แขกคนสำคัญและคิวงานต่างๆ ฝึกเตรียมสคริปต์ด้วยตนเอง และพร้อมเสมอที่จะด้นสด ปรับตัวและแก้ปัญหา การเตรียมตัวอย่างดีมีส่วนช่วยในการลดความกังวลและเพิ่มความมั่นใจในการดำเนินรายการได้ 4. ควบคุมเวลาให้ดี การควบคุมเวลาคือสิ่งที่สำคัญอย่างมาก พิธีกรคือคนควบคุมงาน ควบคุมเวที ควบคุมบรรยากาศความรื่นไหลในงาน การฝึกฝนการคุมเวลาแต่ละช่วง โดยไม่เร่ง หรือปล่อยไหลจนย้วยเกินไป การคุมเวลาเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน ลองฝึกพูดกับนาฬิกาจับเวลา เพื่อให้เราสามารถควบคุมการสรุปคิว เชื่อมคิว ตัดจบ หรืออธิบายสิ่งต่างๆได้ตามข้อจำกัดทางด้านเวลาในแต่ละช่วงของงาน 5. มีส่วนร่วมกับผู้ชม ทำให้ผู้ชมรู้สึกมีส่วนร่วม ด้วยการสบตา และยิ้ม เทคนิคในการสบตาผู้ชมในงาน event หรือการจัดงานในรูปแบบต่างๆไม่ใช่การกวาดสายตาไปทั่วๆโดยไม่หยุดพัก (มีคำเรียกการสบตาหว่านๆด้วยว่า Sprinkle speaker วิทยากรหัวรดน้ำสนามหญ้า) พิธีกร หรือวิทยากร ควรที่จะเลือกคนมองเป็นจุดล็อคสายตา เช่น ตอนเปิดตัว สบตามอง ให้มองผู้ชมทางด้านหน้าตรงกลางก่อน และพูดกับผู้ชมคนนั้นซัก 2-3 ประโยค จากนั้นจึงเปลี่ยนโฟกัสคนมอง เป็นฝั่งซ้าย ไปฝั่งขวา ไปด้านหลัง พูดกับผู้ชมในแต่ละจุดซัก 2-3 ประโยค เทคนิคนี้จะช่วยทำให้ Eyes contact ของเราไปถึงผู้ชมอย่างทั่วถึง มีความหมาย และเป็นธรรมชาติ นอกจากการสบตาและยิ้มแย้มเพื่อเพิ่มความสดชื่นให้ผู้ชม การถามคำถาม เล่นเกมส์ หรือสร้างกิจกรรมที่มีการโต้ตอบ จะช่วยเพิ่มความกระตือรือร้นให้ผู้ชมได้ พลังงานของพิธีกรมีส่วนสำคัญอย่างมากในการหล่อเลี้ยงบรรยากาศให้เป็นบวกและตื่นตัวอยู่เสมอตั้งแต่ต้นจนจบ ในแต่ละงานลองพิจารณาโจทย์ของแต่ละงานว่างานนั้นๆ ต้องการความสนุก ความมีสาระ ความทางการตามที่ผู้จัดงานและผู้ชมคาดหวังมากน้อยแค่ไหน 6. จัดการความกังวลด้วยความมั่นใจ แม้แต่พิธีกรอาชีพที่เตรียมตัวอย่างดีที่สุดแล้ว ก่อนก้าวขาขึ้นเวทีและเริ่มพูด หลายคนก็น่าจะยังตื่นเต้น ใจเต้นตึ้กๆทุกครั้ง เทคนิคต่อสู้ความกังวลและทำให้ทุกอย่างราบรื่นไปได้ คือ การทำสมาธิช่วงก่อนขึ้นเวที การหายใจลึกๆยาวๆ เอาจิตมาจับที่การเคลื่อนของลมหายใจที่ไหลเข้าออกจมูก ขยับปลายนิ้วถูกันเบาๆเพื่อเรียกสติให้อยู่กับตัว นำจิตมาจดจ่อที่การขยับของปลายนิ้ว ตามดูความคิดที่ผุดขึ้นมา จากนั้นรีบเอาจิตมาตามดูตามรู้ที่ร่างกาย จินตนาการภาพความสำเร็จ เชื่อมั่นในตนเองว่าเราทำได้ เราเตรียมตัวมาอย่างดี เราพร้อมแล้วที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จราบรื่น ทุกคนจะมีช่วงเวลาที่ดีไปด้วยกัน 7. พัฒนาสไตล์ของตนเอง หาเสน่ห์ของตัวเองให้เจอไม่ว่าบุคลิกภาพของคุณจะเป็นแบบไหน แนวสาระ แนวบันเทิง หรือ สาระ-บันเทิง บุคลิกภาพที่เข้าถึงได้และมีความเป็นตัวเอง สุภาพ ถูกที่ถูกเวลา จะเป็นเสน่ห์ที่ช่วยให้คุณดึงดูดผู้ชมและสร้างการจดจำได้ หาความถนัดของตัวเองและปรับจูนไปเรื่อยๆจนเจอจุดสมดุลย์ ว่านี่แหละคือสไตล์ของคุณ ที่คนจะนึกถึงเมื่อเลือกให้คุณเป็นผู้ดำเนินรายการ 8. เรียนรู้จากมืออาชีพ เมื่อมีโอกาสให้สังเกตดูพิธีกรอาชีพตอนทำงาน สังเกตเทคนิค วิธีจัดการเชื่อมโยงรอยต่อช่วงต่างๆ การมีส่วนร่วมกับผู้ชม และการจัดการสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดหน้างาน การเรียนรู้จากความเชี่ยวชาญของพิธีกรที่เก่งๆ จะเป็นข้อมูลเชิงลึกในการพัฒนาได้เป็นอย่างดี 9. สอบถาม feedback เมื่อจบงานแต่ละงานให้สอบถามคำแนะนำจากผู้จัดงานหรือผู้ร่วมงาน การรับฟัง feedback ที่ช่วยสะท้อนถึงสิ่งที่เราทำได้ดี และสิ่งที่สามารถปรับปรุงได้ เป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้เราสามารถพัฒนาตนเองต่อไปได้ นอกจากนั้นการดูวิดีโอการจัดงาน หรือทบทวนสะท้อนการทำงานของตนเอง ก็เป็นวิธีที่มีประโยชน์มากเช่นกัน 10. มีไหวพริบและความยืดหยุ่น พร้อมรับทุกสถานการณ์ในการจัดงาน event ไม่ว่าจะรูปแบบใด มักมีเหตุไม่คาดฝัน การไม่ตรงตามสคริปท์ ไม่ตรงตามคิวงาน เกิดขึ้นได้แทบจะตลอดเวลา พิธีกรต้องเตรียมพร้อม มีสติ และยืดหยุ่นพอที่จะปรับแผน พลิกแพลง ในขณะที่ดำเนินรายการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับปัญหาทางเทคนิค การเปลี่ยนแปลงสลับคิวงาน ปรับเปลี่ยนวิทยากรที่จะขึ้นพูด หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอื่นๆ ไหวพริบและการมีความยืดหยุ่นคือ ทักษะที่สำคัญมากสำหรับพิธีกรทุกคน 11. ฝึกฝนอยู่เสมอ กุญแจสำคัญในการเป็นพิธีกรหรือวิทยากรที่มีความมั่นใจคือการฝึกฝน ก่อนเริ่มงานทุกครั้งให้ฝึกฝนกับตนเองซัก 2-3 รอบ ลองดูภาษากายของคุณหน้ากระจก เมื่อมีโอกาสในการพูดต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นงานการกุศล งานของสถาบันศึกษา งานเล็กๆต่างๆ หรือผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในปัจจุบัน ให้พยายามฝึกบ่อยๆ ยิ่งฝึกฝนมาก ความมั่นใจและความมีเสน่ห์ของคุณก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ การเป็นพิธีกรได้อย่างมืออาชีพ คือการเรียนรู้และพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด การเตรียมตัวอย่างดีที่สุด มีส่วนร่วมกับผู้ฟัง จัดการกับความกังวล และสำรวจความพึงพอใจเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะสามารถช่วยให้คุณเป็นพิธีกรที่ดำเนินรายการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นใจได้ อย่าลืมว่า บทบาทของคุณคือสร้างความประทับใจ เสริมสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง และด้วยเคล็ดลับเหล่านี้ คุณจะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการเป็นพิธีกรที่ดีได้อย่างแน่นอน โดย อิสรีย์ ศรีวิชาญกุล ผู้ประกาศข่าวและพิธีกร 2 ภาษา 



 
 
 

Comments


bottom of page